แรงเฉื่อยทางจิต

กฎการเคลื่อนที่ข้อ 1 ของนิวตันกล่าวว่า วัตถุใดก็ตามจะรักษาสภาวะหยุดนิ่ง หรือ เคลื่อนที่เป็นเส้นตรงด้วยความเร็วคงที่เว้นแต่จะมีแรงภายนอกมากระทำกับวัตถุ เรียกว่าสภาวะนี้ว่าความเฉื่อยของวัตถุ

ทางด้านกายภาพมนุษย์ก็จัดเป็นวัตถุที่ไม่ต่างจากโซฟานุ่มๆ ตัวหนึ่งที่เคลื่อนที่ได้ และแน่นอนต้องมีความเฉื่อยเหมือนอย่างที่โซฟาตัวหนึ่งมี สังเกตได้จากตอนรถเมล์หยุดรถกะทันหันแถวคนที่ยืนเบียดอัดกันไปกองอยู่ด้านหน้าเพราะเราเคลื่อนที่มากับรถด้วยความเร็ว

แต่ความเฉื่อยที่เราจะพูดถึง เป็นความเฉื่อยที่โซฟาไม่มีแน่นอน มันคือความเฉื่อยชา เฉื่อยแฉะซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คนเราไม่ควรมีเลย

เฉื่อย เป็นอาการไม่กระตือรือร้น ในการทำสิ่งที่พึงกระทำ

คนเราอาจมองว่าคนที่อยู่เฉยๆ เชื่องช้า นั้นเป็นพวกเฉื่อยแฉะ เราเองก็เป็นในบางครั้ง ซึ่งเราก็เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็นอาการอย่างนี้บ้าง

แต่นั่นยังไม่ได้เป็นจุดเริ่มของอาการเฉื่อย ถ้าเหนื่อยจากการงาน การเรียน ก็หยุดพัก อยากทำอะไรให้ช้าๆ ลงบ้าง เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากพักนานเกินไป เกินพอดี นั้นแสดงว่าเกิดอาการเฉื่อยแล้ว

แต่ในทางกลับกันถ้าทำงานอย่างขมีขมัน นั่นเป็นสิ่งดี แต่ถ้าทำมากเกินไป มากเกินพอดี นั่นไม่ดีแน่นอน ไม่หยุดพักผ่อนอาจทำให้เสียสุขภาพ เราขอเรียกอาการนี้ว่าอาการเฉื่อยด้วยเหมือนกัน

ถ้าพักอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาต้องทำงานแต่ยังคงหยุดพักอยู่ นั่นเป็นความเฉื่อย
ถ้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาต้องพักกลับไม่พัก นั่นก็เป็นความเฉื่อย

ขึ้นชื่อว่า 'เฉื่อย' มันก็ไม่ดีทั้งนั้นยกเว้นในทางวิศวกรรมโดยเฉพาะในทางเครื่องกล เราใช้ประโยชน์จากความเฉื่อยของวัตถุคือให้วัตถุนั้นสะสมพลังงานเอาไว้

แต่ถ้าคนหนึ่งเฉื่อยแล้วพาลให้คนรอบข้างเฉื่อยไปด้วย นั่นจะพากันหายนะไม่ว่าจะเป็นกรณีที่หนึ่งหรือสอง มันจะทำให้ความเฉื่อยทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรระวังมากที่สุดคืออย่าให้คนรอบข้างเฉื่อยเกินไป คนรอบข้างนั้นส่งผลอย่างมากในการใช้ชีวิตวันหนึ่ง เพราะตัวเองอาจจะเฉื่อยตามไปด้วยแบบไม่รู้ตัว

เอ้า! กระตือรือร้นกันหน่อย

ความคิดเห็น

Populars