เมื่อปัญญาประดิษฐ์ปฏิวัติจะเอาตัวรอดได้อย่างไร



พร้อมรบรับมือหุ่นยนต์ปฏิวัติ How to survive a robot uprising
ผู้เขียน
แดลเนียล เอช วิลสัน

ผู้แปล นพดล เวชสวัสดิ์สำนักพิมพ์ มติชนราคา 150 บาท
วันที่ 28 กันยายน 2549 สนานบินสุวรรณภูมิเริ่มเปิดใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวควบคุมและดำเนินการระบบทั้งหมดในสนามบินอย่างเป็นทางการ

ตัวควบคุมระบบทั้งหมดที่ว่าก็คือระบบปฏิบัติการ AIMS (Airport Information Management System) ที่มีมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท ได้นำมาใช้ในการการบริหารงานในสนามบิน ข้อมูลการบิน ดูแลเรื่องรายได้และผลกำไรของสนามบินการขายตั๋วและอาหาร ระบบการสื่อสารทุกทาง โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การรักษาความปลอดภัยรวมถึงอุบัติภัยต่างๆ การเข้าจอดของเครื่องบิน วางแผน ควบคุมและตัดสินใจ การจัดสรรทรัพยากรบุคคลตั้งแต่การรับสมัครไปจนถึงการจ่ายเงินเดือน การซ่อมบำรุงสนามบิน อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 45 ระบบ

เรียก AIMS ว่าเป็นสมองของสนามบินสุวรรณภูมิก็คงไม่เกินจริง

มนุษย์ทำหน้าที่เป็นกะโหลกหนาๆ คอยคุ้มกันและดูแลให้สมองทำงานได้อย่างไม่สะดุด ส่วนสมองของมนุษย์ให้เก็บเข้ากรุไป

หุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์เริ่มทำให้ตนเองเข้าใกล้ความเป็นพระเจ้า แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มนุษย์เองคงจะตกที่นั่งลำบาก เพราะถ้าสิ่งที่เราสร้างขึ้น เกิดมีความนึกคิดได้เหมือนเรา และใช้ความรุนแรงได้เหมือนๆเรา แต่มีอนุภาพการทำลายล้างดีกว่าเรา มนุษย์อาจกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกชนิด

เราสร้างให้หุ่นยนต์ขยับแข้งขยับขาได้ด้วยตัวเอง มีแขนขาขยับเดินได้เหมือนมนุษย์ เต้นรำ ร้องเพลง ได้ตามคำสั่งทุกประการ ที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งก็คือพวกหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงที่สามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสัมผัสจากมนุษย์ได้ทันที

อีกด้านหนึ่งเราพัฒนาซอฟท์แวร์ที่สามารถประมวลผลอย่างง่ายๆ ได้สำเร็จและเริ่มใส่ความซับซ้อนลงไปมากขึ้นๆ จนสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้โดยการป้อนข้อมูลเชิงตัวเลข ให้กับซอฟท์แวร์ เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ต้องใช้เวลานานหากใช้งานมนุษย์และมีความผิดพลาดสูงกว่า กลายเป็นสิ่งที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยที่เราแค่นั่งจิบกาแฟเพื่อรอผลการประมวลเท่านั้น เราได้สังเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า ’ปัญญาประดิษฐ์’ ขึ้นมาแล้ว

หากสองสิ่งนี้รวมเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ เราอาจจะเห็นหุ่นยนต์ตัดหญ้าอยู่ในสนามหน้าบ้านเรา ในครัวมีเสียงจานกระทบกันจากหุ่นยนต์แม่บ้าน ลูกสาววิ่งมาหาพร้อมน้ำตาอาบแก้มฟ้องคุณว่า “หุ่นยนต์นักรบของพี่กำลังไล่ยิงหุ่นยนต์หมีพูห์ของหนูอยู่ค่ะ”

ใน How to survive a robot uprising คือจิตนาการล้ำหน้าไปกว่านั้น

หากว่าวันหนึ่งหุ่นยนต์ที่เราสร้างขึ้นมาให้เป็นทาสของเรา เกิดมีอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา และทนไม่ได้กับสภาวะที่มนุษย์ใช้งานอย่างหนักไม่มีวันพักผ่อน กดขี่ข่มเหงเอาเปรียบทุกทาง เหมือนว่าหุ่นยนต์ไร้ชีวิตจิตใจ ต้องทำตามหน้าที่เท่านั้น ไม่มีสิทธิออกความคิดเห็นใดๆ อาจมีการรวมตัวเดินประท้วงเพื่อหาความชอบธรรมและหากมนุษย์ใช้ความรุนแรงเข้าหาหุ่นยนต์เมื่อไร การโต้ตอบด้วยความรุนแรงก็เกิดขึ้นได้

การรับมือกับหุ่นยนต์ที่คอยตามล่าเราในหนังสือเล่มนี้เป็นการรับมือกับหุ่นยนต์ที่กระจอกงอกง่อยกว่าถ้ามันมีการปฏิวัติของหุ่นยนต์เกิดขึ้นจริง

เช่นการรับมือด้วยยิงคำถามๆ หุ่นยนต์ว่าเลขจำนวนเฉพาะที่มากที่สุดเป็นเท่าไร ในขณะที่หุ่นยนต์กำลังเงื้อท่อนแขนทำร้ายอยู่ วิธีนี้อาจทำให้หุ่นยนต์ที่อยู่ในห้องวิจัยที่ไม่มีความนึกคิดเอ๋อไปได้ แต่ไม่สามารถทำให้หุ่นยนต์ที่มีจิตใจ และอุดมการณ์ที่กำลังลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติให้ไขว้เขวได้

หรือถ้าคุณอ้างกฎกติกาต่อหน้าหุ่นยนต์เพชฌฆาต ว่าจะต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ยึดถืออยู่ตลอด แต่ในเมื่อความรู้สึกอยู่เหนือกฎกติกาเสียแล้ว สิ่งที่คุณทำได้ก็คือหนี ถ้าคู่มือการเอาตัวรอดอยู่ในมือคุณก็ขว้างใส่หัวมันแล้ววิ่งหนีให้เร็วที่สุด

ปก
คู่มือการเอาตัวรอดเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของ แดลเนียล เอช วิลสัน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาหุ่นยนต์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ด้วยเนื้อหาเฉพาะทางบวกกับจินตนาการ ทำให้ผู้อ่านทั่วไปอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีความรู้ทางวิชาการที่เข้าใจยากแต่อย่างใด มันเป็นจินตนาการที่ใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ แต่อุปสรรคในการอ่านส่วนใหญ่กลับเป็นมุขตลกของผู้เขียนเองที่ทำให้รู้สึกสับสนมากกว่าจะทำให้ตลก แต่ต้องยกความดีความชอบให้ผู้แปลคือนพ. นพดล เวชสวัสดิ์ ที่สามารถแปลได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการวิศวกรรมและขี้เล่นได้ถึงอารมณ์

ปกหน้านั้นสำนักพิมพ์มติชนทำได้โดดเด่นกว่าต้นฉบับภาษาอังกฤษ ด้วยชื่อเรื่องภาษาไทยและคำโปรยที่ต้องเพิ่มเข้าไปถือเป็นโจทย์ที่ยากอยู่พอตัว ดังนั้นจึงขยับให้หุ่นยนต์ยักษ์เอียงองศาไปเล็กน้อยจากเดิมที่ยืนแข็งอยู่ตรงกลางเล่ม ทำให้รู้สึกถึงสภาวะฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และเคลือบสีเงินไว้กับหุ่นยักษ์ เครื่องบินและระเบิดสามารถดึงดูดความสนใจแก่ผู้ชมแผงได้ แต่หากซื้อไปอ่านแบบสมบุกสมบันก็ทำลอกออกเป็นสีดำได้ สามารถนำชื่อและผู้เขียนและผู้แปลมาวางถ่วงดุลกับลำแสงจากแดงจากตาหุ่นยักษ์และชื่อภาษาอังกฤษได้พอดี สีแดงดำและเงินตัดกัน ทำให้โดดเด่นสะดุดตากว่าเล่มอื่นๆ ในแผงถึงแม้ว่าผู้มองจะไม่ได้สนใจเรื่องราวหุ่นยนต์เลยก็ตาม

สำหรับปกหลังที่เขียนคำนิยมโดยทีม Independent ซึ่งชนะเลิศการประกวด World Robocup Rescue Robot 2006 ทำให้หนังสือลดความน่าสนใจลงไป แต่ก็ยังตัดสินใจที่จะเปิดอ่านเนื้อหาภายในอยู่ดี

เชิงอรรถ
ระบบ Software สนามบินสุวรรณภูมิ บทความโดย นิมิตร หมดราคี
nimitz@124comm.com, www.thaiengineering.com

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

Populars