เพลงไทยแนว comedy tragedy

ผมขำ-ขำโฆษณาที่นำเด็กหนุ่มหน้าตาเหมือนเด็กเรียนและไม่น่าจะเป็นที่ต้องตาของสาวๆ เท่าไรนัก มาเป็นนักร้องในมิวสิควีดีโอที่ถ้าใครได้ดูและฟังก็จะต้องนึกไปถึงมิวสิควีดีโอเพลง 'I Need Somebody' ของ 'บี้ เดอะ สตาร์' อย่างแน่นอน

ผมขำกว่า-ขำพี่ที่ทำงานของแฟนผม เธอชื่อ 'นก' บ้านพี่นกแกติดตั้งเคเบิลทีวีจึงมีช่องให้เลือกดูเลือกชมมาก-มากจนจำไม่ได้ว่าช่องไหนเป็นช่องไหน สถานการณ์แบบนี้พอเข้าใจ มันเยอะเสียจนไม่รู้ว่าจะดูอะไรดี แป้นเปลี่ยนช่องอยู่ในมือก็ได้แต่กดไล่ช่องไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่องฟรีทีวี ช่องหนัง ช่องสารคดี ช่องการเรียนการศึกษา ช่องข่าว และช่องมิวสิควีดีโอ พี่นกบังเอิญเปลี่ยนช่องเจอ พระเอกมิวสิค(โฆษณา) กำลังเต้นและพ่นเนื้อเพลงตามจังหวะ และตัวอักษรด้านล่างจอเปลี่ยนสีไปตามคำที่นักร้องหนุ่มคนนั้นครวญเพลงออกมาเหมือนคาราโอเกะ ด้วยท่าทีที่สุดแสนมั่นใจในความหล่อเหลา เธอหลงคิดไปว่านี่คือมิวสิควีดีโอของนักร้องหน้าใหม่จริงๆ

ในนาทีนั้นพี่นกคงคิดบ่นอยู่ในใจแต่เพียงผู้เดียว แต่หลังจากรู้ว่าเป็นโฆษณาที่ทำเพื่อล้อเลียนจึงได้เอ่ยวาจากับแฟนผมทำนองว่า ก็รู้สึกขัดใจอยู่เหมือนกันที่เห็นนักร้องคนนี้เลียนแบบทั้งเพลงและมิวสิควีดีโอของนักร้องคนดังไม่พอ หน้าตาก็ไม่ดีแถมเต้นไม่พร้อมกันอีก มาเป็นนักร้องได้ยังไงกัน!

แต่ผมเศร้าที่สุด-เศร้ากับมาตรฐานวงการเพลงไทย พี่นกเชื่อว่านั่นคือนักร้องหน้าใหม่จริงๆ ที่มีผลงานวางขายตามแผงทั่วไป และถึงแม้ว่าจะเธอจะรู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจแต่เธอก็เชื่อ

เรื่องการเลียนแบบทำนอง มิวสิควีดีโอ หรือแม้แต่การแต่งกายของวงการนักร้องไทยนั้นมีให้เห็นอยู่ตลอดตั้งแต่เริ่มมีเพลงไทยสากลเลยก็ว่าได้ โดยมากจะเลียนมาจากเพลงสากล เพราะคนที่เลียนแบบคงคิดว่ากลุ่มคนฟังเพลงไทยสากลที่จะทำตลาดด้วยนั้น คงไม่รู้จักเพลงเหล่านั้น และคงไม่ใช่เพลงที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะซื้อหามาฟัง และอีกเหตุผลก็เป็นเพราะว่ากลุ่มคนฟังเพลงสากลยังน้อยกว่าปัจจุบันมากๆ

เกือบ 10 ปีก่อน ผมบังเอิญได้อ่านนิตยสาร POP เป็นหนังสือเกี่ยวกับวงการเพลงสากล ไปเจอคอลัมน์หนึ่งซึ่งจะจับผิดเพลงไทยเป็นประจำทุกเดือนและเดือนละหลายเพลงด้วย ว่าเพลงเหล่านั้นได้ลอกเลียนแบบมาจากเพลงอะไร ของใคร และเลียนแบบท่อนไหนอย่างไร ไม่น่าเชื่อว่ามันจะมีจำนวนมากถึงขนาดสร้างเป็นคอลัมน์ในนิตยสารประจำเดือนได้จนได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง

เมื่อกระแส 'อัลเทอร์เนทีฟ' ก่อตัวในวงการเพลงบ้านเราโดยผ่านกระบวนการ Fat Radio และ Fat Festival จนกลายพันธุ์มาเป็นกระแส 'อินดี้' และลงท้ายที่กระแส 'เด็กแนว' ที่แสดงออกทางการแต่งกายเสียมากกว่าความสามารถทางดนตรี

ส่วนดนตรีกระแสหลักก็ต้องต่อสู้และรับมือกับกระแสอินดี้ที่รุนแรงมากกว่ากระแสอัลเทอร์เนทีฟหลายเท่าตัว เป็นที่มาให้เกิดรายการ 'เรียลลิตี้' เพื่อสร้างศิลปินหน้าใหม่ขึ้นมาโดยมีกลุ่มคนฟังที่พร้อมเป็นเบาะรองรับเพื่อประกันความเสี่ยงของค่ายเพลงที่อาจจะเจ็บตัวและขาดทุนเพราะคุณภาพของตัวนักร้องเองที่อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน

โดยที่ภาพด้านลบของวงการเพลงไทยที่มักจะเลียนแบบส่วนใดส่วนหนึ่งของเพลงสากลหรือแม้แต่เพลงไทยด้วยกันเองก็ยังไม่ได้เลือนหายไปกับกาลเวลาเลย

ดูเหมือนว่าวงการเพลงบ้านเรากำลังเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง

ความคิดเห็น

Na-pongs Varunyanont กล่าวว่า
ไม่แปลกจนน่าตกใจ...
แต่น่าเสียใจมากกว่า

ด้วยความที่เป็นนักดนตรี (สมัครที่จะเล่น)และพอได้มีโอกาสติดตามเพลง และบุคคลในวงการนี้อยู่บ้าง ตื้นลึกหนาบางอย่างไรคนทั่วไปก็อาจจะรู้กันดีอยู่แล้ว
ตั้งแต่ข้อครหาว่า คนทำเพลง (บางค่าย 2 ค่าย) ดูถูกคนฟัง และรักที่จะทำเงินอย่างเดียว กับการที่คนไทยไม่ซื้อของจริง! ไม่รู้ว่าข้อโต้แย้งไหนน่ากลัวมากกว่ากันเสียแล้วในปัจจุบัน

ประเทศกำลังพัฒนา...
รู้สึกดีกับคำพูดนี้ รู้สึกทุกวงการก็กำลังพัฒนา
แม้ว่าโครงสร้างข้างในจริงๆ จะพิเรนท์ และเน่าเฟะไปเพียงใดแล้วก็ตาม

และไม่ว่าคนทั่วไปจะถูกบังคับให้ต้องรับประทานรสนิยมแบบชงสำเร็จ ที่มีขายไม่กี่ยี่ห้อ (และที่สำคัญ ไร้จินตนาการ และความรับผิดชอบต่อสังคม)อยู่จริงหรือไม่ก็ตาม

แต่ประเทศโลกที่สามอย่างเราก็กำลังพัฒนา...

Populars